วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ภูมิปัญญาจากเพลงแหล่ในเทศน์มหาชาติ

ปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ของชาวบ้านซึ่งอาจประกอบด้วยลักษณะที่เป็นนามธรรม เช่น โลกทัศน์ ความเชื่อ ความคิดเห็นเกี่ยวกับเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าของทุกสิ่งหรือเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับเรื่องเฉพาะด้านต่าง ๆ เช่น การทำมาหากิน การเกษตร หัตถกรรม ฯลฯ ทั้งที่สามารถคิดเองได้ เกิดขึ้นเองโดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในชีวิต เรียนรู้โดยการสืบทอดกันมา และสามารถนำมาแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตได้ ภูมิปัญญาของพระสงฆ์ในเพลงแหล่แหล่นอก เป็นการแสดงความสามารถส่วนตัวและปฏิภาณไหวพริบ ตลอดจนภูมิปัญญาที่พระผู้เทศน์จะเป็นผู้นำมาเทศน์ จนเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านทั่วไปได้ พระสงฆ์จึงต้องเตรียมสาระของเรื่องที่จะแหล่ โดยจะประพันธ์เรื่องก่อนที่จะนำมาแหล่ และบางครั้งต้องใช้แหล่สด ๆ ซึ่งจะต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ ตลอดจนรู้จักแก้ปัญหาและเสนอปัญหาต่าง ๆ เฉพาะหน้า เพราะแหล่นอกถือเป็นแหล่เครื่องเล่นประกอบเนื้อหา ทำให้เนื้อหาสาระตอนนั้น ๆ เด่นขึ้นเป็นที่ประทับใจผู้ฟัง

วัตถุประสงค์ของการแหล่นอก ก็เพื่อจะสอดแทรกเนื้อหาที่ให้ข้อคิด คติสอนใจแก่ผู้ฟัง อีกทั้งเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งที่จะชักชวน จูงใจให้ผู้ฟังเกิดความสนใจในเนื้อเรื่องมากขึ้น เพราะการนั่งฟังธรรมะเป็นเวลานาน ๆ ผู้ฟังอาจเกิดความเบื่อหน่าย หรือง่วงเหงาหาวนอน จึงควรจะได้มีอารมณ์สนุกนานเพลิดเพลินจากการฟัง เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนอารมณ์ มีความรู้สึกอยากฟังธรรมต่อไป แหล่นอกจึงเป็นภูมิปัญญาด้านวรรณกรรมที่พระสงฆ์ได้สรรค์สร้างขึ้น

๑.๑ การอวยพรและการกล่าวลาการอวยพรและการกล่าวลา

ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อพบกันต้องมีการทักทายกัน พระสงฆ์เมื่อจะเริ่มเทศน์มหาชาติจึงใช้เพลงแหล่ซึ่งเรียกว่าแหล่พร แหล่ทักทายญาติโยมที่มาฟัง เพื่อเป็นการดำรงรักษาธรรมเนียมประเพณีไทย เป็นการสร้างความคุ้นเคยกับผู้ฟัง และยังเป็นกลวิธีโน้มน้าวใจให้ประชาชนสนใจฟังเนื้อเรื่องที่จะสั่งสอนโดยตรง และหลังจากพระสงฆ์ได้เทศน์จบแล้ว ก่อนจะกลับก็จะมีแหล่จบ ซึ่งเรียกว่า แหล่ลาเพื่อเป็นการสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง และเป็นการเชิญชวนให้ผู้ฟังหันมาสนใจธรรมะมากยิ่งขึ้น โดยสาระที่ปรากฏในแหล่พรจะได้ให้ความรู้ตลอดจนข้อคิดคำสอน และสัจธรรมที่ผู้ฟังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทำให้จิตใจสูงขึ้น หรือนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ คือ

๑.๑.๑ การให้กำลังใจขอให้สมความปรารถนา เป็นสัจธรรมว่ามนุษย์ทุกคนมักจะต้องการให้ตนเอง สมหวังในสิ่งที่ต้องการ ในคำพรจึงมักจะอวยพรให้สมหวังในเรื่องที่อธิษฐานหรือตั้งใจไว้

“เก้าไปให้มั่นเก้าขั้นบันได ขออำนวยชัยตามเจตจำนง

ยะถาสัพพีวาริวะหา ความปรารถนาให้สมประสงค์

เหมือนดั่งจันทร์จวงเป็นดวงเต็มวง เหมือนน้ำเปลี่ยนทรงสองฝั่งคงคา

เหมือนแก้วมณีที่เนรมิต บันดาลศักดิ์สิทธิ์สมปรารถนา

ขอให้สมใจดังฉันให้พร ให้จงถาวรวัฒนา

อายุวรรณโณสุโขพลัง ขอให้สมดังที่ท่านปรารถนา

”(แหล่พร : แหล่นอก)

๑.๑.๒ การสั่งสอนเพื่อให้ปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ให้ปฏิบัติความดี รักษาศีลและเว้นความชั่ว ไม่ลุ่มหลงในอบายมุข ประกอบอาชีพสุจริต ดังข้อความว่า

“ทำบุญสุนทานเป็นการมงคล มากน้อยอยู่บนพอเหมาะพอดี

แปดเรื่องศีลห้ารักษาให้ครบ ศีลส่งประสบพบความสุขขี

ศีลกันวิบัติกำจัดราคี ชาติหน้าชาตินี้มีแต่คนบูชา

เก้าอย่าประมาทหลงเมามัว อย่านึกว่าตัวจะอยู่คำฟ้า

โออนิจจังวะตะสังขารา ทุกคนเกิดมากายาผันแปล

คนและสัตว์ทั้งหลายตายได้ทันที ชีวิตเรานี้ไม่เที่ยงแท้”

(แหล่พร: แหล่นอก)

๑.๑.๓ การสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังเมื่อเทศน์จบแล้ว เป็นธรรมเนียมที่พระผู้เทศน์จะต้องลาด้วยแหล่นอกที่เป็นแหล่ลา เพื่อแสดงความคุ้นเคยผูกพัน แสดงความอาลัยอาวรณ์ ฝากข้อคิดและประสิทธิ์ประสาทพร รวมทั้งเป็นการสร้างความเป็นกันเอง กับหมู่ญาติโยมที่มานั่งฟังธรรมอีกด้วย

ดังนั้น พระผู้เทศน์จึงต้องแหล่ลาซึ่งจะเป็นแหล่สุดท้าย ซึ่งแหล่ลานี้เป็นแหล่สำคัญ เพราะเป็นการทำให้พระผู้เทศน์ ได้สร้างความประทับใจแก่ญาติโยมที่มานั่งฟังธรรม และยังเป็นกลยุทธของพระผู้เทศน์ในการสร้างแรงจูงใจ ทำให้ญาติโยมนั้นใคร่อยากจะติดตามฟังธรรม เมื่อได้มีโอกาสมาเทศน์อีกในคราวต่อไป โดยจะเริ่มต้นด้วยการเกริ่น เป็นการบอกให้รู้และกล่าวยกย่อง ทำให้เกิดความปลื้มปิติ ดังข้อความว่า

“จะเริ่มเติมอักษรประดิษฐ์เป็นกลอน ขององค์พระพุทธเอาทศพล

ขอให้บังเกิดกับสาธุชน ทั่วทุกคนจงมารับเอาพร”“

จตุพรของพระพุทธโธ ให้สมมโนสโมสร

โยมนั่งฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ไม่ย่อหย่อนในเรื่องศรัทธา

ดวงจิตกมลไม่หม่นหมอง ยลรับรองรสพระธรรมมา

นั่งประนมมือน้อมอยู่พร้อมหน้า เปรมปรีดาปลื้มในฤดี”

(แหล่พร: แหล่นอก)

๑.๑.๔ การแนะนำตัวและการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อผู้ฟัง นอกจากการให้ศีลให้พร การเตือนสติในพรลาแล้ว ในการสร้างความสัมพันธ์อันดี ความประทับใจที่ญาติโยมรู้สึกสนุกสนาน คือการกระเซ้าเย้าแหย่ด้วยแหล่นอก สาระมักปรากฏในช่วงก่อนที่จะเริ่มแหล่เนื้อเรื่อง ซึ่งถือเป็นการออกตัวของพระผู้เทศน์ และอีกช่วงหนึ่งคือในตอนท้ายของบทลา ซึ่งถือเป็นการกลาวฝากเนื้อฝากตัว แนะนำตนเองเพื่อให้ญาติโยมได้รู้จักพระนักเทศน์ได้ดียิ่งขึ้น ดังความว่า

“เพราะรักกันหรอกจึงบอกโยมญาติ ถ้าหากผิดพลาดจะพากันเศร้า

จะทุกข์ระทมจะซมซึมเซา จึงขอบอกเล่าเมื่อก่อนจะลา

เมื่อก่อนจะลาโยมจ๋าฟังนิด ขอฝากข้อคิดให้คำปรึกษา

ถ้าหากว่าฉันได้ผ่านไปมา แวะฉันน้ำชาโยมคงเต็มใจ

แต่ตัวของฉันขอให้สัญญา วันนี้วันหน้าแวะหากันได้

จำชื่อให้ชัดชื่อวัดอะไร คงจำกันได้นะจ๊ะคุณโยม”

๑.๒ การจูงใจให้ทำความดีและการสร้างกุศล

๑.๒.๑ การสอดแทรกนิทานพื้นบ้านและนิทานชาดกการใช้นิทานพื้นบ้านและนิทานชาดก เพื่อจูงใจให้ผู้ฟังได้ข้อคิดจากการฟังเกิดความสนุกสนาน และเป็นการจูงใจให้รู้สึกอยากฟัง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เครียด ทำให้ผู้ใหญ่ เด็กและหนุ่มสาวไม่รู้สึกเบื่อที่จะฟังเทศน์ และยังได้สาระความรู้และข้อคิดจากการฟังนิทานสามารถนำสิ่งที่ดีไปประพฤติปฏิบัติตามได้ ถือเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้ฟังโดยไม่รู้ตัว



๑.๒.๒ การสอดแทรกเรื่องการทำบุญประเพณีการเทศน์มหาชาตินั้น เมื่อมีการจัดเทศน์มหาชาติขึ้นตามวัดหรือตามบ้าน นอกจากการจัดสถานที่ มีการประดับต้นกล้วย อ้อย ราชวัตรฉัตรธงต่าง ๆ แล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าภาพจะต้องมีการจัดเตรียมเครื่องกัณฑ์ และต้องมีขันประจำกัณฑ์ให้เพื่อนบ้านที่มาฟังร่วมทำบุญติดกัณฑ์เทศน์ โดยจะมีต้นกล้วยและไม้ธงสามเหลี่ยมเตรียมไว้ เพื่อให้ผู้ทำบุญนำเงินมาผูกเสียบไว้กับต้นกล้วย ถ้าเป็นเงินเหรียญก็ใส่ไว้ในขันประจำกัณฑ์ตามที่เรียกมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้พานแว่นฟ้า หรือไตร

ปัจจุบันพระนักเทศน์ ใช้แหล่นอกเป็นกลยุทธในการชักจูงให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญกับพระ หรือกับทางวัด ด้วยเพลงแหล่มีมีเนื้อหาสาระเรียกร้องให้ญาติโยมร่วมทำบุญ ซึ่งประเพณีการเทศน์มหาชาติสมัยโบราณ เรียกว่า “แหล่ติดเทียน” เป็นการเปิดโอกาสให้ญาติโยมได้นำเงินมาทำบุญร่วมกันกับเจ้าภาพ หรือทำบุญให้กับพระรูปที่มาเทศน์ โดยพระนักเทศน์จะแหล่เชิญชวนด้วยเทคนิคการใช้ถ้อยคำตามแต่ที่เห็นว่าควรกล่าว ดังข้อความว่า

“ถึงจะเทศน์นานมองพานเงินยังไม่เพิ่ม เห็นมีเท่าเดิมมองแล้วอยากร้องไห้

นั่งฟังเสียเพลินลืมเดินเรี่ยไร เทศน์จนเหงื่อโทรมกายโยมยังไม่เมตตา

ถ้าโยมไม่ศรัทธาก็ไม่ว่าโยมหรอก จะไม่เก็บไปบอกใครเขาหรอกหนา

ว่าโยมที่นี่ขี้เหนียวเต็มประดา คงจำติดตราไปนานเป็นปี”

ถ้าหากผู้ใดทำบุญมา ๆ ชาติหน้าก็จะได้ขึ้นสวรรค์“

เจ้าของกัณฑ์ท่านใจดี ท่านปราณีคงไม่เป็นไรโยม

ไม่ติดฉันไม่ว่า ไม่ขัดศรัทธาที่เลื่อมใส

วิมานเมืองฟ้าสุราลัย จะไว้ให้ใครเล่าคุณโยม

วิมานมาลอยอยู่คอยท่า มีหมู่นางฟ้ามาแห่โหม

วิมานมาลอยคอยคุณโยม จะไม่ประโคมก็ตามแต่ใจ นั้นแล ฯ

(แหล่พร : แหล่นอก)

การแหล่ติดเทียน พระผู้เทศน์จะประพันธ์แทรกอยู่ในเนื้อหาแหล่นอก ซึ่งสามารถสอดแทรกได้ทุกกัณฑ์ ขึ้นอยู่กับพระนักเทศน์ว่าจะใช้ช่วงเนื้อหาใดในแต่ละกัณฑ์จึงจะเหมาะสม แต่กัณฑ์ที่นิยมสอดแทรกแหล่ติดเทียน ได้แก่ กัณฑ์มัทรี กัณฑ์ชูชก กัณฑ์มหาราช ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อพระผู้เทศน์กระเซ้าเย้าแหย่ให้ญาติโยมร่วมทำบุญ ผู้ฟังก็จะนำเงินไปถวายพระที่กำลังเทศน์ หรืออาจมีผู้ใดผู้หนึ่ง ถือพานไปให้ผู้ฟังได้ใส่เงินเพื่อเป็นการทำบุญก็ได้ การแหล่ติดเทียนนี้จึงนับว่าเป็นค่านิยมของนักฟังเทศนมหาชาติ และเป็นภูมิปัญญาของพระนักเทศน์ประการหนึ่ง

ดังนั้นเพื่อให้ญาติโยมได้บุญกุศลจากการทำบุญ พระผู้เทศน์จะต้องหาช่องทางเพื่อให้ญาติโยมได้นำเงินมาติดเทียน ถ้าเทศน์กัณฑ์มัทรี ก็ใช้แหล่มัทรีสลบ ในกัณฑ์มหาราชจะใช้ตอนที่เทวดาได้มาเล่นดนตรีกล่อมให้พระชาลีและกัณหานอน แต่เผอิญซอขาดจึงต้องให้ญาติโยมนั้นช่วยกันต่อสายซอ เมื่อได้ปัจจัยติดเทียน เหมือนเป็นการต่อสายซอแล้ว พระจึงแหล่ต่อไปได้


เอกสารอ้างอิง

จันทรา เรือนทองดี.(๒๕๔๗). เพลงแหล่ในเทศน์มหาชาติจังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
พระมหาบุญเลิศ ปุญญวโร.สัมภาษณ์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖
นายเจือ พันธ์น้อย สัมภาษณ์ ๖ กันยายน ๒๕๔๕.
นายแจ่ม เขตน้อย. อายุ ๘๗ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)
นางอุ่ม ชุ่มสด. อายุ ๗๕ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การขับขานเพลงแหล่

การแหล่ของพระสงฆ์นั้น มักจะแหล่ในโอกาสที่มีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ปกติจะนิยมจัดเทศน์มหาชาติในช่วงหลังจากมีประเพณีการทอดกฐิน แต่ปัจจุบันการเทศน์มหาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีการจัดเทศน์มหาชาติได้ในทุกโอกาส โดยขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้จัด ผู้ฟังจึงสามารถไปร่วมฟังเทศน์มหาชาติได้ ๒ โอกาส คือ
๑. ฟังเทศน์มหาชาติที่วัด ซึ่งแต่ละวัดจะมีการจัดให้มีการเทศน์มหาชาติทุก ๆ ปี ในช่วงเทศกาลออกพรรษา คือระหว่างเดือน ๑๑ - ๑๒ และเดือนอ้าย นับเป็นประเพณีที่สืบปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในการจัดแต่ละปีจะมีเจ้าภาพในแต่ละกัณฑ์ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยผลไม้ ขนม กล้วย อ้อย เป็นพื้นและจะมีขัน เรียกว่า “ขันประจำกัณฑ์” มีไว้ให้เจ้าภาพได้ติดเครื่องกัณฑ์ และคนที่ไม่ใช่เจ้าภาพนำปัจจัยมาใส่ขันนั้น เมื่อถึงกัณฑ์ของใครก็ไปประจำอยู่ในที่ที่ใกล้กับพระเทศน์

ด้านสถานที่ที่จะเทศน์ก็จะเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และทางมะพร้าวมาประดับตกแต่ง เพื่อให้คล้ายกับท้องเรี่องที่เกี่ยวกับป่า พร้อมมีราชวัตรฉัตรธงปักทั้งนี้เพื่อแสดงว่าเป็นเรื่องของพระราชา และในการเทศน์แต่ละกัณฑ์เจ้าของกัณฑ์ก็จะต้องเตรียมธูปเทียนดอกไม้เท่ากับจำนวนคาถาในแต่ละกัณฑ์ ดอกไม้จะนิยมใช้ดอกบัว ขณะเมื่อพระเริ่มเทศน์ในกัณฑ์นั้น ๆ เจ้าของกัณฑ์ก็จะจุดธูปเทียนเพื่อบูชากัณฑ์ โดยจะจุดเทียนวางไว้รอบ ๆ กระถางน้ำมนต์ซึ่งจะจัดตั้งไว้ในบริเวณที่จัดพิธี

๒. ฟังเทศน์มหาชาติที่บ้าน การจัดให้มีการเทศน์มหาชาติที่บ้านนั้น เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตของชาวเพชรบุรี มักจะจัดในช่วงเทศกาลหลังจากออกพรรษา เช่นเดียวกับการจัดเทศน์ที่วัด แต่ปัจจุบันมักจัดตามความสะดวกของเจ้าของบ้าน ไม่ค่อยยึดตามประเพณีเดิมมากนัก


ในการจัดให้มีเทศน์มหาชาติตามบ้านนี้ ชาวบ้านจะเรียกว่า “เทศน์คาถาพัน” บางครั้งอาจจัดที่ศาลาประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะมาร่วมฟังเทศน์กันเหมือนการไปช่วยเหลืองานบุญอย่างงานอุปสมบท หรืองานมงคลสมรส ผู้ที่เป็นผู้จัดจะต้องไปเดินบอกงานหรือบอกบุญ ให้ชาวบ้านได้มาร่วมกันฟังเทศน์ในวันที่ได้กำหนด และผู้จัดหรือเจ้าของบ้านจะเป็นผู้เลี้ยงอาหารหวานคาวให้แก่ผู้ที่มาฟังเทศน์

ดังนั้นจะเห็นว่าก่อนที่จะจัดให้มีเทศน์มหาชาติตามบ้านนั้น เจ้าของบ้านจะต้องมีความพร้อมเรื่องปัจจัย เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อสิ่งของมาก โดยก่อนถึงวันเทศน์เจ้าของบ้านจะต้องเตรียมการล่วงหน้า มีการจัดเตรียมสถานที่ทำความสะอาด ตกแต่งสถานที่ให้มีลักษณะคล้ายการเทศน์ที่วัด คือจัดให้มีต้นกล้วยต้นอ้อย ธงชัย ผลไม้


นอกจากนี้ ก็จะต้องจัดเตรียมเครื่องกัณฑ์และปัจจัยถวายพระนักเทศน์ จำนวน ๑๓ กัณฑ์ สำหรับกัณฑ์ทานกัณฑ์จะต้องจัดเตรียมสิ่งของเพื่อบริจาคทาน โดยเจ้าของบ้านจะนำของที่เตรียมไว้ มอบให้กับผู้ที่ไปฟังเทศน์มหาชาติในกัณฑ์ทานกัณฑ์ สิ่งของที่จัดซื้อเตรียมไว้อาจเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ น้ำปลา น้ำตาล หรือสิ่งของอื่น ๆ ตามแต่ผู้จัดได้ตั้งใจไว้ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์และศรัทธาของผู้จัด


ในด้านพิธีการจะเริ่มมีการเทศน์ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. โดยบางบ้านอาจจะนิมนต์ให้พระรูปใดรูปหนึ่งมาเทศน์คาถาพันให้จบเสียก่อนในตอนเย็น แล้วจึงเริ่มเทศน์กัณฑ์แรกคือกัณฑ์ทศพรตั้งแต่เช้ามืด จนถึงกัณฑ์สุดท้ายคือกัณฑ์นครกัณฑ์ ซึ่งจะเสร็จสิ้นประมาณเวลา ๒๐.๐๐ น. แต่บางบ้านก็จะให้พระที่เทศน์ในแต่ละกัณฑ์ ได้ว่าคาถาประจำกัณฑ์ก่อนที่จะเทศน์เนื้อหา


การเทศน์มหาชาตินั้นเดิมจะใช้เทศน์ทำนองธรรมวัตร ซึ่งเป็นทำนองที่เรียบ ๆ ไม่น่าสนใจ ทำให้ผู้ฟังไม่ตั้งใจและไม่มีสมาธิในการฟัง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้ผู้ฟังมีความสนใจและได้รับอรรถรสในการฟัง จึงทำให้ผู้ฟังนิยมฟังเทศน์มหาชาติมากขึ้น ในการเทศน์เนื้อหาจะมีแหล่นอกเข้าไปสอดแทรกสลับกับแหล่ใน จึงพบว่าจะมีการขับขานแหล่นอกอยู่ในการเทศน์มหาชาติเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์มหาชาติในรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งรูปแบบต่าง ๆ ของการเทศน์มหาชาติจะมีอยู่ ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. มหาชาติประยุกต์ เป็นการเทศน์มหาชาติโดยมีการปรับเนื้อหาให้เข้าใจง่าย ได้สาระไม่น่าเบื่อหน่าย เนื้อเรื่องมีความกระชับมากขึ้น ทำให้ไม่เสียเวลามากซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังนอกจากเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีแล้ว ยังคุ้มค่าเพราะผู้ฟังนับวันจะหาโอกาสในการฟังเทศน์ยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันทุกคนจะต้องปฏิบัติภารกิจเพื่อการดำรงชีพของตนเป็นสำคัญ ดังนั้นการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว มีความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อหน่าย จึงต้องนำแหล่นอกมาสอดแทรกเป็นสำคัญ


๒. มหาชาติทรงเครื่อง คือ การเทศน์เวสสันดรชาดกประกอบการแสดง พิธีการจัดเหมือนกับเทศน์มหาชาติทั่วไป สำหรับพระผู้เทศน์นั้นจะมีเพียงรูปเดียวหรือจะเป็นเทศน์ปุจฉาวิสัชนา โดยจะมีพระสงฆ์ ๒ - ๓ ธรรมาสน์ก็ได้ และจะมีผู้แสดงประกอบการเทศน์ซึ่งเป็นฆราวาสแต่งกายเป็นตัวละครในเรื่องเวสสันดรชาดก แสดงตามเนื้อเรื่องที่พระท่านเทศน์ เช่น เทศน์กัณฑ์กุมาร ก็จะมีผู้แสดงเป็นนางมัทรี ชาลีและกัณหา กัณฑ์ชูชกก็จะมีผู้แสดงเป็นชูชก ด้านการแหล่ประกอบนั้นจะใช้แหล่นอก ดังเช่นพอพระนักเทศน์ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ เทศน์กัณฑ์กุมารตอนที่พระนางมัทรีฝันร้าย ก็มาปลุกและเล่าความฝันแก่พระเวสสันดร พระเวสสันดรก็ตรัสปลอบว่าจงอย่าวิตกในความฝันเลย พระนางมัทรีจึงทูลลากลับไป เมื่อเทศน์มาถึงเนื้อหาในตอนนี้ ก็จะมีผู้หญิงที่แสดงเป็นมัทรีแต่งกายนุ่งห่มผ้าหนังเสือเดินจูงมือเด็กชายเด็กหญิง ที่แสดงเป็นชาลีและกัณหามาเข้าเฝ้าพระเวสสันดรเพื่อจะฝากชาลีและกัณหาเอาไว้ เพราะตนจะต้องออกไปหาผลไม้ในป่า โดยจะสมมุติให้พระที่นั่งอยู่บนธรรมาสน์เทศน์เป็นพระเวสสันดร จะมีการเจรจาโต้ตอบกันระหว่างพระที่อยู่บนธรรมาสน์เทศน์ด้วยกัน ละพระที่ได้รับบทเป็นพระเวสสันดร จะร้องแหล่ในทำนองต่าง ๆ สลับกันกับพระนักเทศน์องค์อื่นที่อยู่บนธรรมาสน์ เป็นการแหล่โต้ตอบกันไปมา ในตอนที่พระเวสสันดรยกชาลีและกัณหาให้แก่ชูชก ทำให้ให้ชาลีและกัณหาไปแอบซ่อนตัวอยู่ในสระบัว พระเวสสันดรทรงทราบจึงร้องแหล่ที่เรียกกันว่า ทำนองสำเภา ใจความโดยนัยคือร้องเรียกให้ชาลีและกัณหาขึ้นมาจากสระบัว ให้สองกุมารทำตัวเหมือนสำเภาพาพ่อข้ามฟากไปให้ถึงฝั่ง คือได้บริจาคทานเพื่อที่พ่อจะได้สำเร็จพระโพธิญาณ เมื่อชาลีและกัณหาขึ้นมาจากสระบัวได้แล้ว พระเวสสันดรก็ยกให้กับพราหมณ์เฒ่าชูชก ช่วงนี้ก็จะมีร้องแหล่ประกอบบทเจรจาว่า ชูชกดึงเอาเถาวัลย์มาผูกมัดมือทั้งชาลีและกัณหาให้ติดกัน แล้วโบยตีฉุดกระชากลากมา พระเวสสันดรคือพระที่อยู่บนธรรมาสน์เทศน์ก็ร้องแหล่ มีใจความโกรธขยับพระแสงขรรค์และธนู แต่แล้วก็หักห้ามพระทัยได้
๓. มหาชาติหางเครื่อง เป็นการเทศน์โดยมีการแสดงประกอบ เดิมเป็นฆราวาสแสดงตามเนื้อหา ปัจจุบันมีลิเกประกอบ ซึ่งพระที่เทศน์จะนั่งบนธรรมาสน์ การเทศน์จะใช้ทำนองแหล่นอก ชาวบ้านมักจะชอบการเทศน์ในรูปแบบนี้ แต่บางครั้งอาจจะได้รับแต่ความสนุกสนานแต่ขาดสาระสำคัญหรือขาดคุณค่าทางธรรมะ จะเห็นได้ว่าการเทศน์มหาชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของการเทศน์มหาชาติแบบใด ก็มักจะสอดแทรกแหล่นอกเพื่อเพิ่มอรรถรสให้น่าฟัง ผู้ฟังจะได้สาระและความสนุกสนานเพลิดเพลินและประทับใจ ทำให้การรับฟังเทศน์มหาชาติมีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังมากยิ่งขึ้น

ที่มาและประเภทของการแหล่

คำว่าแหล่นั้น เกิดจากประเพณีเทศน์มหาชาติ เมื่อพระเทศน์มหาชาติจบตอนหนึ่งหรือบทหนึ่ง ในตอนใกล้จบ เนื้อแหล่จะมีคำลงสุดท้ายว่า “นั่นแล” เช่น กัณฑ์ทศพร ลงท้ายว่า “ด้วยพระทัยอนุโมทนาในกาลบัดนั้นแล” กัณฑ์หิมพานต์ ลงท้ายว่า “ดังพรรณนามาฉะนี้แล้วแล” กัณฑ์วนประเวศน์ ลงท้ายว่า “อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน โดยประการดังแสดงมาฉะนี้แล” กัณฑ์มัทรี ลงท้ายว่า “อิติ เมาะ อิมินา นิยาเมน โดยนิยมมาดังนี้แล” กัณฑ์มหาพน ลงท้ายว่า “ตํ ปเทสํ สู่ประเทศ ณ ที่นั่นแล” กัณฑ์มหาราช ลงท้ายว่า “ตํ ปเทสํ ยังประเทศที่นั้นแล” ดังนั้น คำว่า “แหล่” จึงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำว่า “แล” ซึ่งเป็นคำลงท้ายของทุกกัณฑ์ เวลาลงเสียงมักลากเสียงยาว ๆ “แล” จึงได้ยินเป็น “แหล่"
การแหล่มหาชาติโดยทั่วไปจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ แหล่ในท้องเรื่องตามชาดกในหนังสือผูก และแหล่นอกท้องเรื่อง เรียกว่า “แหล่ใน” กับ “แหล่นอก”

ประวัติความเป็นมาของแหล่

>>ประวัติความเป็นมาของแหล่ <<
แหล่เป็นศิลปวัฒนธรรมทางภูมิปัญญา เดิมสันนิษฐานว่า แหล่อาจเกิดขึ้นเพราะมีขนบประเพณีทางศาสนาขึ้นก่อน คือประเพณีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งไทยเรามีมาแต่ครั้งโบราณ ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยา ธนบุรีและสืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน แหล่จึงเรียกกันว่า “เครื่องเล่นมหาชาติ” ซึ่งการเทศน์มหาชาตินั้น เป็นประเพณีที่จัดทำกันในวัดต่าง ๆ เป็นประจำปีทั่วทุกท้องถิ่น และถือเป็นงานบุญเป็นการบำเพ็ญกุศลที่ยิ่งใหญ่ เดิมเรียกกันว่า “กาพย์กลอนหลังเทศน์มหาชาติ” เพิ่งมาเรียกแหล่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แหล่เริ่มเกิดขึ้นมาพร้อมประเพณีการเทศน์มหาชาติ เพราะเมื่อมีงานเทศน์มหาชาติ ก็มีการร้องแหล่ แหล่จึงคู่กับงานเทศน์มหาชาติตลอดมาทุกยุคทุกสมัย และยังเป็นที่นิยมของผู้ฟังเทศน์มหาชาติมาตลอด พระสงฆ์ที่มีความสามารถในการแหล่ส่วนมากจะเป็นพระสงฆ์ที่บวชนานหลายพรรษา ซึ่งจะเรียกว่าพระนักเทศน์ ซึ่งพระนักเทศน์จะได้รับนิมนต์ไปเทศน์ในงานเทศน์มหาชาติตามวัดต่าง ๆ หรือไปเทศน์ตามบ้านเนื่องในงานมงคล ซึ่งเจ้าภาพนิมนต์ไปและขอให้พระแหล่ให้ญาติโยมฟัง

เรื่องที่แหล่ให้ฟังส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องชาดก หรือแหล่เรื่องบุญกุศล หากเมื่อพระนักเทศน์ไม่ต้องการที่จะอยู่สืบต่อพระพุทธศาสนาก็สึกออกมาจากพระมาเป็นฆราวาส ก็จะมาหัดเป็นหมอขวัญได้นำแหล่ต่าง ๆ ที่เคยฝึกซ้อม หรือมีประสบการณ์จากการแหล่ มาดัดแปลงเพื่อแหล่ในพิธีทำขวัญในโอกาสต่าง ๆ เช่น การทำขวัญข้าวในนา การทำขวัญเรือน การทำขวัญจุก การทำขวัญบ่าวสาว การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ และทำขวัญนาค ซึ่งเป็นคติความเชื่อและประเพณีของชาวบ้าน ที่มีการสืบทอดต่อกันมา

งานเทศน์มหาชาตินั้น กรรมการสงฆ์หรือกรรมการของวัดแทบทุกวัด จะจัดให้มีงานเทศน์มหาชาติซึ่งเป็นงานประจำปีของวัด โดยทางวัดนิมนต์พระนักเทศน์ที่มีความชำนาญการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ให้มาเทศน์ในงานเทศน์มหาชาติและแจ้งให้ญาติโยมชาวบ้านทั้งใกล้ไกล ให้มาร่วมกันทำบุญรับกัณฑ์เทศน์มหาชาติ เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละกัณฑ์ เงินที่ได้จากกัณฑ์เทศน์ทั้งหมด ก็จะเข้าเป็นเงินกองกลางของวัดที่จัดงาน เพื่อเก็บไว้ทะนุบำรุงซ่อมแซมกุฏิ ศาลา โบสถ์ หรือสิ่งอื่นที่อยู่ในบริเวณวัด ส่วนสิ่งของที่นำมาติดกัณฑ์เทศน์ เช่น สบง จีวรหรือสิ่งของใช้สำหรับสงฆ์ หรือผลไม้ และอาหารแห้งทั้งหมดก็เป็นของพระนักเทศน์แต่ละกัณฑ์นั้น ๆ

พระนักเทศน์ที่เสียงดี เสียงดัง ถูกอักขระ ไม่ผิดคำควบกล้ำ ถูกต้องทำนอง มีลีลาการใช้เสียงหนักเบา ถูกวรรคตอน ทำให้ญาติโยมและท่านผู้ฟังทั้งหลายนิยมชมชอบ ก็มักจะถูกนิมนต์ไปเทศน์มหาชาติในงานวัดที่จัดขึ้น พระนักเทศน์จึงมีกุศลผลบุญอย่างมากที่ได้ช่วยบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนวัฒนา

เอกสารอ้างอิง

จันทรา เรือนทองดี.(2547).เพลงแหล่ในเทศน์มหาชาติจังหวัดเพชรบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
พระมหาบุญเลิศ ปุญญวโร.สัมภาษณ์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖
นายเจือ พันธ์น้อย สัมภาษณ์ ๖ กันยายน ๒๕๔๕.
นายแจ่ม เขตน้อย. อายุ ๘๗ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)
นางอุ่ม ชุ่มสด. อายุ ๗๕ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)


ประเพณีการเทศน์มหาชาติ

4
ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
3
เป็นศิลปวัฒนธรรมในด้านประเพณีไทย ที่มีการสืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่เมื่อพระพุทธศาสนา ได้เผยแผ่เข้ามายังประเทศไทย ในสมัยสุโขทัยเป็นต้นมาดังพระราชปรารภในพระเจ้าอยู่หัวลิไท ซึ่งปรากฏในศิลาจารึกนครชุมหลักที่ ๓ ซึ่งจารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ มีใจความว่าในเดือนหกบูรณมี ผิจักนับด้วยวัน ได้เจ็ดแสนหมื่นสี่ร้อยหกสิบแปดวัน พระได้เป็นพระพุทธนั้นนาในวันพุธวันหนไทย วันเตาญี ผิมีคนถามศาสนาพระเป็นเจ้ายังเท่าใดจักสิ้นอัน ให้แก้ว่าดังนี้ แต่มีอันสถาปนาพระมหาธาตุนี้เมื่อหน้า ได้สามพันเก้าสิบเก้าปีจึงจักสิ้นศาสนาพระเป็นเจ้าอันหนึ่งโสด นับแต่มีสถาปนาพระมหาธาตุนี้ เมื่อหน้าเก้าสิบเก้าปีถึงปีกุนอันว่าพระปิฎกไตรยนี้จักหายและหาคนรู้จักแท้แลมิได้เลย ยังมีคนรู้คั่นสเล็กสน้อยไซร้ ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่าพระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย จึงเห็นได้ว่าประเพณีการเทศน์มหาชาตินั้น เป็นศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ไทย ซึ่งประชาชนให้ความสนใจและประพฤติปฏิบัติเป็นประเพณี สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คนไทยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเทศน์มหาชาติเป็นการปลูกฝังคุณธรรมความดีงาม ตามเนื้อหาของเรื่อง อันมีกระแสแห่งความเมตตา ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และไม่เห็นแก่ตัว สอนให้ประชาชนได้รู้จักมีความโอบอ้อมอารี ผู้ที่ได้รับฟังเทศน์มหาชาติ ย่อมได้รับการปลูกฝังคุณธรรม อันประเสริฐ การฟังเทศน์มหาชาติ ประชาชนนิยมฟังกันอย่างมิเบื่อหน่าย ทั้งนี้เพราะได้รับความเพลิดเพลินจากการฟัง อันเนื่องจากการเทศน์มหาชาตินั้น มีท่วงทีลีลาทำนองที่ให้อรรถรสหลายหลาก และแตกต่างกันไปในแต่ละกัณฑ์
เอกสารอ้างอิง

จันทรา เรือนทองดี.(2547).เพลงแหล่ในเทศน์มหาชาติจังหวัดเพชรบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
พระมหาบุญเลิศ ปุญญวโร.สัมภาษณ์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖
นายเจือ พันธ์น้อย สัมภาษณ์ ๖ กันยายน ๒๕๔๕.
นายแจ่ม เขตน้อย. อายุ ๘๗ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)
นางอุ่ม ชุ่มสด. อายุ ๗๕ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ภูมิปัญญาไทย

3
ภูมิปัญญา
4
/ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่กับสังคมมนุษย์มานาน เป็นการดำรงชีวิตอยู่ในชีวิตที่เกี่ยวพันธ์กับธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่น โดยมีการปรับสภาพการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติตามกาลเวลา เพราะมนุษย์มีความสามารถในการคิดค้น เรียนรู้แก้ปัญหา และมีการสืบทอดแบบแผนความรู้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา แม้ว่าภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่ถูกสั่งสมและถ่ายทอดเป็นมรดกมานาน แต่จะมีลักษณะที่สำคัญคือเป็นองค์ความรู้ที่มีการเชื่อมโยงกันไปหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาชีพ เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ การใช้จ่าย การศึกษา วัฒนธรรม

เอกสารอ้างอิง

จันทรา เรือนทองดี.(2547).เพลงแหล่ในเทศน์มหาชาติจังหวัดเพชรบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
มหาบุญเลิศ ปุญญวโร.สัมภาษณ์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖
นายเจือ พันธ์น้อย สัมภาษณ์ ๖ กันยายน ๒๕๔๕.
นายแจ่ม เขตน้อย. อายุ ๘๗ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)
นางอุ่ม ชุ่มสด. อายุ ๗๕ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)