วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประวัติความเป็นมาของแหล่

>>ประวัติความเป็นมาของแหล่ <<
แหล่เป็นศิลปวัฒนธรรมทางภูมิปัญญา เดิมสันนิษฐานว่า แหล่อาจเกิดขึ้นเพราะมีขนบประเพณีทางศาสนาขึ้นก่อน คือประเพณีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งไทยเรามีมาแต่ครั้งโบราณ ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยา ธนบุรีและสืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน แหล่จึงเรียกกันว่า “เครื่องเล่นมหาชาติ” ซึ่งการเทศน์มหาชาตินั้น เป็นประเพณีที่จัดทำกันในวัดต่าง ๆ เป็นประจำปีทั่วทุกท้องถิ่น และถือเป็นงานบุญเป็นการบำเพ็ญกุศลที่ยิ่งใหญ่ เดิมเรียกกันว่า “กาพย์กลอนหลังเทศน์มหาชาติ” เพิ่งมาเรียกแหล่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แหล่เริ่มเกิดขึ้นมาพร้อมประเพณีการเทศน์มหาชาติ เพราะเมื่อมีงานเทศน์มหาชาติ ก็มีการร้องแหล่ แหล่จึงคู่กับงานเทศน์มหาชาติตลอดมาทุกยุคทุกสมัย และยังเป็นที่นิยมของผู้ฟังเทศน์มหาชาติมาตลอด พระสงฆ์ที่มีความสามารถในการแหล่ส่วนมากจะเป็นพระสงฆ์ที่บวชนานหลายพรรษา ซึ่งจะเรียกว่าพระนักเทศน์ ซึ่งพระนักเทศน์จะได้รับนิมนต์ไปเทศน์ในงานเทศน์มหาชาติตามวัดต่าง ๆ หรือไปเทศน์ตามบ้านเนื่องในงานมงคล ซึ่งเจ้าภาพนิมนต์ไปและขอให้พระแหล่ให้ญาติโยมฟัง

เรื่องที่แหล่ให้ฟังส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องชาดก หรือแหล่เรื่องบุญกุศล หากเมื่อพระนักเทศน์ไม่ต้องการที่จะอยู่สืบต่อพระพุทธศาสนาก็สึกออกมาจากพระมาเป็นฆราวาส ก็จะมาหัดเป็นหมอขวัญได้นำแหล่ต่าง ๆ ที่เคยฝึกซ้อม หรือมีประสบการณ์จากการแหล่ มาดัดแปลงเพื่อแหล่ในพิธีทำขวัญในโอกาสต่าง ๆ เช่น การทำขวัญข้าวในนา การทำขวัญเรือน การทำขวัญจุก การทำขวัญบ่าวสาว การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ และทำขวัญนาค ซึ่งเป็นคติความเชื่อและประเพณีของชาวบ้าน ที่มีการสืบทอดต่อกันมา

งานเทศน์มหาชาตินั้น กรรมการสงฆ์หรือกรรมการของวัดแทบทุกวัด จะจัดให้มีงานเทศน์มหาชาติซึ่งเป็นงานประจำปีของวัด โดยทางวัดนิมนต์พระนักเทศน์ที่มีความชำนาญการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ให้มาเทศน์ในงานเทศน์มหาชาติและแจ้งให้ญาติโยมชาวบ้านทั้งใกล้ไกล ให้มาร่วมกันทำบุญรับกัณฑ์เทศน์มหาชาติ เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละกัณฑ์ เงินที่ได้จากกัณฑ์เทศน์ทั้งหมด ก็จะเข้าเป็นเงินกองกลางของวัดที่จัดงาน เพื่อเก็บไว้ทะนุบำรุงซ่อมแซมกุฏิ ศาลา โบสถ์ หรือสิ่งอื่นที่อยู่ในบริเวณวัด ส่วนสิ่งของที่นำมาติดกัณฑ์เทศน์ เช่น สบง จีวรหรือสิ่งของใช้สำหรับสงฆ์ หรือผลไม้ และอาหารแห้งทั้งหมดก็เป็นของพระนักเทศน์แต่ละกัณฑ์นั้น ๆ

พระนักเทศน์ที่เสียงดี เสียงดัง ถูกอักขระ ไม่ผิดคำควบกล้ำ ถูกต้องทำนอง มีลีลาการใช้เสียงหนักเบา ถูกวรรคตอน ทำให้ญาติโยมและท่านผู้ฟังทั้งหลายนิยมชมชอบ ก็มักจะถูกนิมนต์ไปเทศน์มหาชาติในงานวัดที่จัดขึ้น พระนักเทศน์จึงมีกุศลผลบุญอย่างมากที่ได้ช่วยบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนวัฒนา

เอกสารอ้างอิง

จันทรา เรือนทองดี.(2547).เพลงแหล่ในเทศน์มหาชาติจังหวัดเพชรบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.
พระมหาบุญเลิศ ปุญญวโร.สัมภาษณ์ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖
นายเจือ พันธ์น้อย สัมภาษณ์ ๖ กันยายน ๒๕๔๕.
นายแจ่ม เขตน้อย. อายุ ๘๗ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)
นางอุ่ม ชุ่มสด. อายุ ๗๕ ปี (วิทยากรท้องถิ่น)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น