วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การขับขานเพลงแหล่

การแหล่ของพระสงฆ์นั้น มักจะแหล่ในโอกาสที่มีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ปกติจะนิยมจัดเทศน์มหาชาติในช่วงหลังจากมีประเพณีการทอดกฐิน แต่ปัจจุบันการเทศน์มหาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีการจัดเทศน์มหาชาติได้ในทุกโอกาส โดยขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้จัด ผู้ฟังจึงสามารถไปร่วมฟังเทศน์มหาชาติได้ ๒ โอกาส คือ
๑. ฟังเทศน์มหาชาติที่วัด ซึ่งแต่ละวัดจะมีการจัดให้มีการเทศน์มหาชาติทุก ๆ ปี ในช่วงเทศกาลออกพรรษา คือระหว่างเดือน ๑๑ - ๑๒ และเดือนอ้าย นับเป็นประเพณีที่สืบปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในการจัดแต่ละปีจะมีเจ้าภาพในแต่ละกัณฑ์ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยผลไม้ ขนม กล้วย อ้อย เป็นพื้นและจะมีขัน เรียกว่า “ขันประจำกัณฑ์” มีไว้ให้เจ้าภาพได้ติดเครื่องกัณฑ์ และคนที่ไม่ใช่เจ้าภาพนำปัจจัยมาใส่ขันนั้น เมื่อถึงกัณฑ์ของใครก็ไปประจำอยู่ในที่ที่ใกล้กับพระเทศน์

ด้านสถานที่ที่จะเทศน์ก็จะเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และทางมะพร้าวมาประดับตกแต่ง เพื่อให้คล้ายกับท้องเรี่องที่เกี่ยวกับป่า พร้อมมีราชวัตรฉัตรธงปักทั้งนี้เพื่อแสดงว่าเป็นเรื่องของพระราชา และในการเทศน์แต่ละกัณฑ์เจ้าของกัณฑ์ก็จะต้องเตรียมธูปเทียนดอกไม้เท่ากับจำนวนคาถาในแต่ละกัณฑ์ ดอกไม้จะนิยมใช้ดอกบัว ขณะเมื่อพระเริ่มเทศน์ในกัณฑ์นั้น ๆ เจ้าของกัณฑ์ก็จะจุดธูปเทียนเพื่อบูชากัณฑ์ โดยจะจุดเทียนวางไว้รอบ ๆ กระถางน้ำมนต์ซึ่งจะจัดตั้งไว้ในบริเวณที่จัดพิธี

๒. ฟังเทศน์มหาชาติที่บ้าน การจัดให้มีการเทศน์มหาชาติที่บ้านนั้น เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตของชาวเพชรบุรี มักจะจัดในช่วงเทศกาลหลังจากออกพรรษา เช่นเดียวกับการจัดเทศน์ที่วัด แต่ปัจจุบันมักจัดตามความสะดวกของเจ้าของบ้าน ไม่ค่อยยึดตามประเพณีเดิมมากนัก


ในการจัดให้มีเทศน์มหาชาติตามบ้านนี้ ชาวบ้านจะเรียกว่า “เทศน์คาถาพัน” บางครั้งอาจจัดที่ศาลาประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะมาร่วมฟังเทศน์กันเหมือนการไปช่วยเหลืองานบุญอย่างงานอุปสมบท หรืองานมงคลสมรส ผู้ที่เป็นผู้จัดจะต้องไปเดินบอกงานหรือบอกบุญ ให้ชาวบ้านได้มาร่วมกันฟังเทศน์ในวันที่ได้กำหนด และผู้จัดหรือเจ้าของบ้านจะเป็นผู้เลี้ยงอาหารหวานคาวให้แก่ผู้ที่มาฟังเทศน์

ดังนั้นจะเห็นว่าก่อนที่จะจัดให้มีเทศน์มหาชาติตามบ้านนั้น เจ้าของบ้านจะต้องมีความพร้อมเรื่องปัจจัย เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อสิ่งของมาก โดยก่อนถึงวันเทศน์เจ้าของบ้านจะต้องเตรียมการล่วงหน้า มีการจัดเตรียมสถานที่ทำความสะอาด ตกแต่งสถานที่ให้มีลักษณะคล้ายการเทศน์ที่วัด คือจัดให้มีต้นกล้วยต้นอ้อย ธงชัย ผลไม้


นอกจากนี้ ก็จะต้องจัดเตรียมเครื่องกัณฑ์และปัจจัยถวายพระนักเทศน์ จำนวน ๑๓ กัณฑ์ สำหรับกัณฑ์ทานกัณฑ์จะต้องจัดเตรียมสิ่งของเพื่อบริจาคทาน โดยเจ้าของบ้านจะนำของที่เตรียมไว้ มอบให้กับผู้ที่ไปฟังเทศน์มหาชาติในกัณฑ์ทานกัณฑ์ สิ่งของที่จัดซื้อเตรียมไว้อาจเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ น้ำปลา น้ำตาล หรือสิ่งของอื่น ๆ ตามแต่ผู้จัดได้ตั้งใจไว้ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์และศรัทธาของผู้จัด


ในด้านพิธีการจะเริ่มมีการเทศน์ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. โดยบางบ้านอาจจะนิมนต์ให้พระรูปใดรูปหนึ่งมาเทศน์คาถาพันให้จบเสียก่อนในตอนเย็น แล้วจึงเริ่มเทศน์กัณฑ์แรกคือกัณฑ์ทศพรตั้งแต่เช้ามืด จนถึงกัณฑ์สุดท้ายคือกัณฑ์นครกัณฑ์ ซึ่งจะเสร็จสิ้นประมาณเวลา ๒๐.๐๐ น. แต่บางบ้านก็จะให้พระที่เทศน์ในแต่ละกัณฑ์ ได้ว่าคาถาประจำกัณฑ์ก่อนที่จะเทศน์เนื้อหา


การเทศน์มหาชาตินั้นเดิมจะใช้เทศน์ทำนองธรรมวัตร ซึ่งเป็นทำนองที่เรียบ ๆ ไม่น่าสนใจ ทำให้ผู้ฟังไม่ตั้งใจและไม่มีสมาธิในการฟัง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนให้มีหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดให้ผู้ฟังมีความสนใจและได้รับอรรถรสในการฟัง จึงทำให้ผู้ฟังนิยมฟังเทศน์มหาชาติมากขึ้น ในการเทศน์เนื้อหาจะมีแหล่นอกเข้าไปสอดแทรกสลับกับแหล่ใน จึงพบว่าจะมีการขับขานแหล่นอกอยู่ในการเทศน์มหาชาติเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์มหาชาติในรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งรูปแบบต่าง ๆ ของการเทศน์มหาชาติจะมีอยู่ ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. มหาชาติประยุกต์ เป็นการเทศน์มหาชาติโดยมีการปรับเนื้อหาให้เข้าใจง่าย ได้สาระไม่น่าเบื่อหน่าย เนื้อเรื่องมีความกระชับมากขึ้น ทำให้ไม่เสียเวลามากซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังนอกจากเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีแล้ว ยังคุ้มค่าเพราะผู้ฟังนับวันจะหาโอกาสในการฟังเทศน์ยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันทุกคนจะต้องปฏิบัติภารกิจเพื่อการดำรงชีพของตนเป็นสำคัญ ดังนั้นการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว มีความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อหน่าย จึงต้องนำแหล่นอกมาสอดแทรกเป็นสำคัญ


๒. มหาชาติทรงเครื่อง คือ การเทศน์เวสสันดรชาดกประกอบการแสดง พิธีการจัดเหมือนกับเทศน์มหาชาติทั่วไป สำหรับพระผู้เทศน์นั้นจะมีเพียงรูปเดียวหรือจะเป็นเทศน์ปุจฉาวิสัชนา โดยจะมีพระสงฆ์ ๒ - ๓ ธรรมาสน์ก็ได้ และจะมีผู้แสดงประกอบการเทศน์ซึ่งเป็นฆราวาสแต่งกายเป็นตัวละครในเรื่องเวสสันดรชาดก แสดงตามเนื้อเรื่องที่พระท่านเทศน์ เช่น เทศน์กัณฑ์กุมาร ก็จะมีผู้แสดงเป็นนางมัทรี ชาลีและกัณหา กัณฑ์ชูชกก็จะมีผู้แสดงเป็นชูชก ด้านการแหล่ประกอบนั้นจะใช้แหล่นอก ดังเช่นพอพระนักเทศน์ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ เทศน์กัณฑ์กุมารตอนที่พระนางมัทรีฝันร้าย ก็มาปลุกและเล่าความฝันแก่พระเวสสันดร พระเวสสันดรก็ตรัสปลอบว่าจงอย่าวิตกในความฝันเลย พระนางมัทรีจึงทูลลากลับไป เมื่อเทศน์มาถึงเนื้อหาในตอนนี้ ก็จะมีผู้หญิงที่แสดงเป็นมัทรีแต่งกายนุ่งห่มผ้าหนังเสือเดินจูงมือเด็กชายเด็กหญิง ที่แสดงเป็นชาลีและกัณหามาเข้าเฝ้าพระเวสสันดรเพื่อจะฝากชาลีและกัณหาเอาไว้ เพราะตนจะต้องออกไปหาผลไม้ในป่า โดยจะสมมุติให้พระที่นั่งอยู่บนธรรมาสน์เทศน์เป็นพระเวสสันดร จะมีการเจรจาโต้ตอบกันระหว่างพระที่อยู่บนธรรมาสน์เทศน์ด้วยกัน ละพระที่ได้รับบทเป็นพระเวสสันดร จะร้องแหล่ในทำนองต่าง ๆ สลับกันกับพระนักเทศน์องค์อื่นที่อยู่บนธรรมาสน์ เป็นการแหล่โต้ตอบกันไปมา ในตอนที่พระเวสสันดรยกชาลีและกัณหาให้แก่ชูชก ทำให้ให้ชาลีและกัณหาไปแอบซ่อนตัวอยู่ในสระบัว พระเวสสันดรทรงทราบจึงร้องแหล่ที่เรียกกันว่า ทำนองสำเภา ใจความโดยนัยคือร้องเรียกให้ชาลีและกัณหาขึ้นมาจากสระบัว ให้สองกุมารทำตัวเหมือนสำเภาพาพ่อข้ามฟากไปให้ถึงฝั่ง คือได้บริจาคทานเพื่อที่พ่อจะได้สำเร็จพระโพธิญาณ เมื่อชาลีและกัณหาขึ้นมาจากสระบัวได้แล้ว พระเวสสันดรก็ยกให้กับพราหมณ์เฒ่าชูชก ช่วงนี้ก็จะมีร้องแหล่ประกอบบทเจรจาว่า ชูชกดึงเอาเถาวัลย์มาผูกมัดมือทั้งชาลีและกัณหาให้ติดกัน แล้วโบยตีฉุดกระชากลากมา พระเวสสันดรคือพระที่อยู่บนธรรมาสน์เทศน์ก็ร้องแหล่ มีใจความโกรธขยับพระแสงขรรค์และธนู แต่แล้วก็หักห้ามพระทัยได้
๓. มหาชาติหางเครื่อง เป็นการเทศน์โดยมีการแสดงประกอบ เดิมเป็นฆราวาสแสดงตามเนื้อหา ปัจจุบันมีลิเกประกอบ ซึ่งพระที่เทศน์จะนั่งบนธรรมาสน์ การเทศน์จะใช้ทำนองแหล่นอก ชาวบ้านมักจะชอบการเทศน์ในรูปแบบนี้ แต่บางครั้งอาจจะได้รับแต่ความสนุกสนานแต่ขาดสาระสำคัญหรือขาดคุณค่าทางธรรมะ จะเห็นได้ว่าการเทศน์มหาชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของการเทศน์มหาชาติแบบใด ก็มักจะสอดแทรกแหล่นอกเพื่อเพิ่มอรรถรสให้น่าฟัง ผู้ฟังจะได้สาระและความสนุกสนานเพลิดเพลินและประทับใจ ทำให้การรับฟังเทศน์มหาชาติมีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังมากยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น